ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

1. ด้านการเมือง  ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียได้พัฒนาแน่นแฟ้นจนมีความใกล้ชิดกันจนถึงปัจจุบัน   เนื่องจากทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงที่ต้องพึ่งพาระหว่างกัน   มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่างๆอย่างสม่ำเสมอ ทั้งระดับพระราชวงศ์ชั้นสูงและรัฐบาล ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ   แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก   แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนทางบก,บุคคลสองสัญชาติ และ โจรก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไขต่อไป

 

2. ด้านเศรษฐกิจ   มาเลเซียถือว่าเป็นคู่ค้าอันดับ2  ของไทยในอาเซียน ที่รองมาจากสิงคโปร์   โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาเลเซียมาตลอด    และสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยที่ส่งไปยังมาเลเซีย  ได้แก่ เครื่องโทรสาร   โทรพิมพ์  โทรศัพท์   เครื่องคอมพิวเตอร์  อุปกรณ์และส่วนประกอบ  เหล็ก   เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์   เคมีภัณฑ์และยางพารา   สำหรับสินค้าออกและสินค้าเข้าบางอย่างอาจเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน    ซึ่งสินค้าเข้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้ามาจากมาเลเซีย  ก็ได้แก่  เครื่องใช้ไฟฟ้า   เคมีภัณฑ์   เครื่องคอมพิวเตอร์   อุปกรณ์และส่วนประกอบ   เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมและแผงวงจรไฟฟ้า    ส่วนด้านการค้าชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซียนั้น  ไทยส่งสินค้าออกไปมาเลเซียโดยผ่านด่านศุลกากรตามพรมแดนใน 5 จังหวัด   ได้แก่  ยะลา  นราธิวาส  สตูล  สงขลา และปัตตานี   ซึ่งไทยได้เป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า

 

3. ด้านการทหาร    เนื่องจากทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดต่อกัน   จึงมีความร่วมมือกันเป็นพิเศษในด้านการทหาร   เช่น  การร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ    การซ้อมรบร่วม   การฝึกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบิน   รวมทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเรือรบและคณะทหารระหว่างกัน   เป็นต้น    นอกจากนี้จากการที่มาเลเซียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  และส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาในอดีต    โดยเพิ่งได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ.2500   ในช่วงเริ่มตั้งประเทศนั้น   มาเลเซียประสบปัญหากระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องเขตแดนทั้ง อินโดนีเซีย   ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์   ทำให้มาเลเซียมีความอ่อนไหวต่อเรื่องความมั่นคงภายในและภูมิภาคมาก   การดำเนินนโยบายด้านการเมืองและความมั่นคงจึงมีลักษณะเข้มงวด  ขาดความยืดหุ่น   แต่เมื่อสถานการณ์โลกและภูมิภาคเปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์  จึงได้ปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น   ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

 

4. ด้านการทูต  ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์คนปัจจุบันคือ นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2550 นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง (สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู) และมีสถานกงสุลประจำเกาะลังกาวี (ซึ่งมีดาโต๊ะ ชาซรีล เอสเคย์ บิน อับดุลลาห์ กงสุลกิตติมศักดิ์เป็นหัวหน้าสำนักงาน) สำหรับหน่วยงานของส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ภายใต้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานแรงงาน ส่วนหน่วยงานของไทยอื่นๆ ที่ตั้งสำนักงานในมาเลเซียคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย สำหรับหน่วยงานของมาเลเซียในไทยได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย (เอกอัครราชทูตมาเลเซียคนปัจจุบันคือ ดาโต๊ะ ชารานี บิน อิบราฮิม) และสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา

 

                                5. ด้านสังคม  ศาสนาและวัฒนธรรม
• ด้านสังคม ไทยกับมาเลเซียมีความใกล้ชิดกันในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการไปมาหาสู่ กันในฐานะเครือญาติและเพื่อนฝูง ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือกันทั้งในด้านการค้าและด้านอื่น ๆ ทั้งสองประเทศมีโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน รวมทั้งความร่วมมือด้านการบริหารจัดการสัญจรข้ามแดนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่และส่งเสริมการติดต่อด้านการค้าและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังอนุญาตให้คนถือสัญชาติของอีกฝ่ายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใช้บัตรผ่านแดนซึ่งออกให้โดยหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของแต่ละฝ่ายแทนการใช้หนังสือเดินทางเพื่อผ่านด่านพรมแดนระหว่างกันได้
• ด้านศาสนาและวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำศาสนาอิสลาม ทั้งในระดับจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนา ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหาร จัดการโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและวิทยาลัยอิหม่าม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านกิจการศาสนาอิสลาม
• ด้านวิชาการ ทั้งสองประเทศมีการประชุมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันเพื่อทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และ Economic Planning Unit (EPU) ของมาเลเซียเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน ความร่วมมือในกรอบทวิภาคีที่ฝ่ายไทยให้แก่ฝ่ายมาเลเซีย ได้แก่ การจัดหลักสูตรประจำปี (Annual International Training Course: AITC) หลักสูตรศึกษานานาชาติ (Thai International Postgraduate Programme: TIPP) ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (Technical Cooperation Among Development Country: TCDC) และยังร่วมกันจัดการฝึกอบรมให้กับประเทศที่สาม (Third Country Training Programme: TCTP) ส่วนมาเลเซียได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการให้ทุนฝึกอบรมประจำปีภายใต้โครงการ Malaysia Technical Cooperation Programme (MTCP) ในสาขาต่าง ๆ ให้แก่ประเทศไทย เพื่อให้คัดเลือกผู้ไปรับการฝึกอบรมที่มาเลเซีย โดยในช่วง พ.ศ. 2540-2548 มีชาวไทยได้รับทุนดังกล่าวรวม 165 ทุน

 

                ความตกลงสำคัญระหว่างไทย-มาเลเซีย 
1. ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยาม-อังกฤษ (ลงนามเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2454)
2. ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกของการเดินรถไฟ (ลงนามเมื่อปี 2465)
3. ความตกลงว่าด้วยการจราจรข้ามแดน (ลงนามเมื่อปี 2483)
4. ความตกลงว่าด้วยการคมนาคมและขนส่งทางบก (ลงนามเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2497)
5. ความตกลงว่าด้วยการเดินรถไฟร่วม (ลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2497)
6. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505)
7. ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2509)
8. ความตกลงว่าด้วยการศุลกากร (ลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2511)
9. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา (ลงนามเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2513)
10. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมง (ลงนามเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2514)
11. ความตกลงว่าด้วยการสำรวจและปักปันเขตแดน (ลงนามเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2515)
12. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรร่วมมาเลเซีย – ไทย (ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522)
13. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522)
14. ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล / ทะเลอาณาเขต (ลงนามเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2522)
15. ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตไหล่ทวีป (ลงนามเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2522)
16. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ (ลงนามเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน2522)
17. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าไป-กลับระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของมาเลเซียผ่านแดนไทยโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ลงนามเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2523)
18. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2525)
19. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาลุ่มน้ำโก-ลก (ลงนามเมื่อเดือนพฤษภาคม 2526)
20. ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซีย (ลงนามเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2530)
21. ความตกลงว่าด้วยการเดินเรือข้ามฟากบริเวณปากแม่น้ำโก-ลก (ลงนามเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2533)
22. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (ลงนามเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2536)
23. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538)
24. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยางพารา (ลงนามเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2542)
25. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือชายแดน (ลงนามเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2543)
26. ความตกลงว่าด้วยการค้าทวิภาคี (ลงนามเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2543)
27. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำ Bilateral Payment Arrangement (Account Trade) (ลงนามเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม2544)
28. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ 3 ฝ่าย ด้านยางพารา อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (ลงนามเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม2545)
29. บันทึกความเข้าใจเพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการในการเคลื่อนย้ายสินค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546)
30. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทยกับมาเลเซีย (ลงนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546)
31. ความตกลงโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 เชื่อมบ้านบูเก๊ะตา
อ.แว้ง จ.นราธิวาส กับบ้านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน (ลงนามเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547)
32. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษา (ลงนามเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2550)

Leave a comment